วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

หน่วยการเรียนที่ ๑


ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับนวัตกรรมเทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษา

นวัตกรรมการศึกษา
นวัตกรรม (Innovation) มีรากศัพท์มาจาก innovare ในภาษาลาติน แปลว่า ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา ความหมายของนวัตกรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์คือ การนำแนวความคิดใหม่หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ในรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือก็คือ การทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ (Change) ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราให้กลายมาเป็นโอกาส (Opportunity) และถ่ายทอดไปสู่แนวความคิดใหม่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมแนวความคิดนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยจะเห็นได้จากแนวคิดของนักเศรษฐอุตสาหกรรม เช่น ผลงานของ Joseph Schumpeter ใน The Theory of Economic Development,1934 โดยจะเน้นไปที่การสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะนำไปสู่การได้มาซึ่ง นวัตกรรมทางเทคโนโลยี (Technological Innovation) เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เป็นหลัก นวัตกรรมยังหมายถึงความสามารถในการเรียนรู้และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริงอีกด้วย (พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ , Xaap.com)

ความหมายของนวัตกรรม
คำว่า นวัตกรรม เป็นคำที่ค่อนข้างจะใหม่ในวงการศึกษาของไทย คำนี้ เป็นศัพท์บัญญัติของคณะกรรมการพิจารณาศัพท์วิชาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มาจากภาษาอังกฤษว่า Innovation มาจากคำกริยาว่า innovate แปลว่า ทำใหม่ เปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งใหม่ ในภาษาไทยเดิมใช้คำว่า นวกรรมต่อมาพบว่าคำนี้มีความหมายคลาดเคลื่อน จึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า นวัตกรรม (อ่านว่า นะ วัด ตะ กำ) หมายถึงการนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากวิธีการที่ทำอยู่เดิม เพื่อให้ใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น ดังนั้นไม่ว่าวงการหรือกิจการใด ๆ ก็ตาม เมื่อมีการนำเอาความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อปรับปรุงงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมก็เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรม ของวงการนั้น ๆ เช่นในวงการศึกษานำเอามาใช้ ก็เรียกว่า นวัตกรรมการศึกษา(Educational Innovation)
สำหรับผู้ที่กระทำ หรือนำความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ มาใช้นี้ เรียกว่าเป็น “นวัตกร” (Innovator)
           ทอมัส ฮิวช์ (Thomas Hughes) ได้ให้ความหมายของ นวัตกรรมว่า เป็นการนำวิธีการใหม่ ๆ มาปฏิบัติหลังจากได้ผ่านการทดลองหรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้น ๆ แล้ว เริ่มตั้งแต่การคิดค้น (Invention) การพัฒนา (Development) ซึ่งอาจจะเป็นไปในรูปของ โครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project) แล้วจึงนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งมีความแตกต่างไปจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา (boonpan edt01.htm)
มอร์ตัน (Morton,J.A.) ให้ความหมาย นวัตกรรมว่าเป็นการทำให้ใหม่ขึ้นอีกครั้ง(Renewal) ซึ่งหมายถึง การปรับปรุงสิ่งเก่าและพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ตลอดจนหน่วยงาน หรือองค์การนั้น ๆ นวัตกรรม ไม่ใช่การขจัดหรือล้มล้างสิ่งเก่าให้หมดไป แต่เป็นการ ปรับปรุงเสริมแต่งและพัฒนา (boonpan edt01.htm)
ไชยยศ เรืองสุวรรณ (2521 : 14) ได้ให้ความหมาย นวัตกรรมไว้ว่าหมายถึง วิธีการปฎิบัติใหม่ๆ ที่แปลกไปจากเดิมโดยอาจจะได้มาจากการคิดค้นพบวิธีการใหม่ๆ ขึ้นมาหรือมีการปรับปรุงของเก่าให้เหมาะสมและสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ได้รับการทดลอง พัฒนาจนเป็นที่เชื่อถือได้แล้วว่าได้ผลดีในทางปฎิบัติ ทำให้ระบบก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
จรูญ วงศ์สายัณห์ (2520 : 37) ได้กล่าวถึงความหมายของ นวัตกรรมไว้ว่า แม้ในภาษาอังกฤษเอง ความหมายก็ต่างกันเป็น 2 ระดับ โดยทั่วไป นวัตกรรม หมายถึง ความพยายามใด ๆ จะเป็นผลสำเร็จหรือไม่ มากน้อยเพียงใดก็ตามที่เป็นไปเพื่อจะนำสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ทำอยู่เดิมแล้ว กับอีกระดับหนึ่งซึ่งวงการวิทยาศาสตร์แห่งพฤติกรรม ได้พยายามศึกษาถึงที่มา ลักษณะ กรรมวิธี และผลกระทบที่มีอยู่ต่อกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง คำว่า นวัตกรรม มักจะหมายถึง สิ่งที่ได้นำความเปลี่ยนแปลงใหม่เข้ามาใช้ได้ผลสำเร็จและแผ่กว้างออกไป จนกลายเป็นการปฏิบัติอย่างธรรมดาสามัญ (บุญเกื้อ ควรหาเวช , 2543)
นวัตกรรม แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 มีการประดิษฐ์คิดค้น (Innovation) หรือเป็นการปรุงแต่งของเก่าให้เหมาะสมกับกาลสมัย
ระยะที่ 2 พัฒนาการ (Development) มีการทดลองในแหล่งทดลองจัดทำอยู่ในลักษณะของโครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project)
ระยะที่ 3 การนำเอาไปปฏิบัติในสถานการณ์ทั่วไป ซึ่งจัดว่าเป็นนวัตกรรมขั้นสมบูรณ์


ความหมายการศึกษา
คำว่า " การศึกษา " พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า " การเล่าเรียน การฝึกอบรม " เป็นคำที่ใช้ในความหมายตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า "Education" ซึ่ง คาร์เตอร์ วี. กูด
( Good. 1973 : 202 ) ได้ให้ความหมายไว้ในพจนานุกรมศัพท์การศึกษา 4 ประการ โดยสรุป คือ
            1. การศึกษา หมายถึง การดำเนินการด้วยกระบวนการทุกอย่าง ที่ทำให้บุคคลพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ รวมทั้งทัศนคติและพฤติกรรมอื่นๆ ตามค่านิยมและคุณธรรมในสังคม
            2. การศึกษา หมายถึง กระบวนการทางสังคม ที่ทำให้บุคคลได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม ที่คัดเลือกและกำหนดไว้อย่างเหมาะสมโดยเฉพาะโรงเรียน เพื่อพัฒนาบุคคลและสังคม
            3. การศึกษา หมายถึงวิชาชีพอย่างหนึ่งสำหรับครู หรือการเตรียมบุคคลให้เป็นครู ซึ่งจัดสอนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบด้วย วิชาจิตวิทยาการศึกษา ปรัชญา ประวัติการศึกษา หลักสูตร หลักการสอน การวัดผล การบริหาร การนิเทศการศึกษา และวิชาอื่นๆ ที่ครูควรรู้ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้เกิดความเจริญงอกงามสำหรับครู
            4. การศึกษา หมายถึง ศิลปในการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ในอดีต ซึ่งรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบสำหรับคนรุ่นใหม่
นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาอีกจำนวนมาก ที่ได้ให้ความหมายของการศึกษาไว้ตามแนวคิด ความเชื่อที่แตกต่างกันของแต่ละคน เช่น
- การศึกษา คือ ความเจริญงอกงาม ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม
- การศึกษา คือ ชีวิต และชีวิตคือการศึกษา
- การศึกษา คือ การพัฒนาคน
- การศึกษา คือ การเสริมสร้างความรู้ ความคิด ทักษะและเจตคติ
- การศึกษา คือ การแก้ปัญหาของมนุษย์ให้หลุดพ้น และเข้าถึงสิ่งดีงาม
- การศึกษา คือ การถ่ายทอดแนวคิด ความเชื่อ พฤติกรรม ศิลปวัฒนธรรม
- การศึกษา คือ การเตรียมตัวสำหรับการดำรงชีวิตที่สมบูรณ์
" การศึกษา" ตามความหมายที่ถูกต้อง คือความหมายที่ตรงกับความหมายของคำในภาษาอังกฤษว่า "Education" ในภาษาไทย บางครั้งคนทั่วไปใช้คำว่าการศึกษาในความหมายที่คาดเคลื่อน คือ นำไปใช้ในความหมายของ คำว่า การเรียนรู้ (Learning) และคำว่า การศึกษาค้นคว้า (Study) ซึ่งมีความหมายแตกต่างกัน กล่าวคือ การเรียนรู้ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเป็นผลมาจากประสบการณ์ โดยพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางดีหรือทางไม่ดีก็ได้ แต่คำว่า "การศึกษา" หมายถึงเฉพาะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เป็นไปในทางที่ดีและสังคมยอมรับเท่านั้น ส่วนคำว่า "การศึกษาค้นคว้า" หมายถึงการเสาะแสวงหรือค้นหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาในอดีตถือว่า การศึกษาเกิดขึ้นได้เฉพาะในสถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียน วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น การศึกษาเริ่มต้นเมื่อเข้าโรงเรียนตามอายุที่กำหนด และสิ้นสุดการศึกษาเมื่อออกจากโรงเรียน ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับในช่วงการเข้าเรียนนั้นสามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต ผู้ที่เรียนหนังสือในโรงเรียนเป็นเวลานาน จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูง ส่วนคนที่เรียนในโรงเรียนในเพียงระยะสั้น หรือไม่เคยเข้าโรงเรียนเลยก็ได้ชื่อว่าเป็นคนการศึกษาต่ำหรือไร้การศึกษา สถานศึกษาจึงกลายเป็นเครื่องมืออันหนึ่ง ในการแบ่งแยกชนชั้น ซึ่งความคิดเช่นนี้ ในปัจจุบันไม่อาจใช้ได้ ทั้งนี้เพราะสภาพสังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้คนสามารถรับการศึกษาได้จากหลายทาง ความรู้และประสบการณ์ที่เคยได้รับจากการศึกษาในโรง เรียน สามารถนำไปใช้ได้ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปความรู้เดิมอาจไม่สามารถใช้ได้ จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพิ่มอยู่ตลอดเวลา ต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ตั้งแต่ก่อนวัยเข้าโรงเรียนหรือผ่านพ้นวัยที่จะต้องศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการศึกษาอยู่เสมอ





ความหมายของนวัตกรรมการศึกษา
นวัตกรรมการศึกษา (Educational Innovation )” หมายถึง นวัตกรรมที่จะช่วยให้การศึกษา และการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิผลสูงกว่าเดิม เกิดแรงจูงใจในการเรียนด้วยนวัตกรรมการศึกษา และประหยัดเวลาในการเรียนได้อีกด้วย ในปัจจุบันมีการใช้นวัตกรรมการศึกษามากมายหลายอย่าง ซึ่งมีทั้งนวัตกรรมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว และประเภทที่กำลังเผยแพร่ เช่น การเรียนการสอนที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Aids Instruction) การใช้แผ่นวิดีทัศน์เชิงโต้ตอบ (Interactive Video) สื่อหลายมิติ ( Hypermedia ) และอินเทอร์เน็ต [Internet] เหล่านี้ เป็นต้น (วารสารออนไลน์ บรรณปัญญา.htm)
นวัตกรรมทางการศึกษา(Educational Innovation) หมายถึง การนำเอาสิ่งใหม่ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ก็ตามเข้ามาใช้ในระบบการศึกษา เพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วเกิดแรงจูงใจในการเรียน และช่วยให้ประหยัดเวลาในการเรียน เช่น การสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การใช้วีดิทัศน์เชิงโต้ตอบ(Interactive Video) สื่อหลายมิติ (Hypermedia) และอินเตอร์เน็ต เหล่านี้เป็นต้น

ประเภทของนวัตกรรม
นวัตกรรมแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ
1.      นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation)
       คือผลิตภัณฑ์ที่ถูกผลิตขึ้นในเชิงพาณิชย์ที่ได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือ เป็นสิ่งใหม่ ในตลาด นวัตกรรมนี้อาจ
จะเป็นของใหม่ ต่อโลก ต่อประเทศ องค์กรหรือแม้แต่ตัวเราเอง
2.      นวัตกรรมในขบวนการผลิตหรือการดำเนินงาน (Process Innovation)
    เป็นการเปลี่ยนแนวทางหรือวิธีการผลิตสินค้าหรือการให้บริการในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากเดิม
          นวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน การที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จและ ยั่งยืนได้ ธุรกิจต้องค้นหา "นวัตกรรมธุรกิจ"ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง นวัตกรรมมิใช่เพียงแค่ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดใหม่ๆ แต่ต้องเป็น ความคิดใหม่ๆที่สามารถขายได้ หรือ การทำให้ความคิดใหม่ๆ มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ แหล่งที่สำคัญที่สุดของการเกิดนวัตกรรม อยู่ที่ "ลูกค้าหรือตลาดการแข่งขัน" เพราะจะแสดงถึงความต้องการของผู้บริโภค ความมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่คู่แข่งนำหน้าเข้ามาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เราจะสร้างอัตราเร่งสู่นวัตกรรมใหม่ของธุรกิจไทย โดย
           1. ต้องมีความก้าวหน้าในองค์ความรู้และเทคโนโลยี ในลักษณะ "วัฒนธรรมการเรียนแบบรับรู้" ซึ่งในต่างประเทศมีการพัฒนาต่อยอดความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างต่อเนื่อง จากการสร้างพื้นฐานมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาและธุรกิจเอกชนที่เป็นบริษัทระดับโลก
           2. การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของธุรกิจ แยกเป็น
                2.1 นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ เป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือความรู้ใหม่เพื่อผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ออกมาสู่ตลาด
                2.2 นวัตกรรมกระบวนการทางธุรกิจ ที่สามารถใส่หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจมีความแตกต่างเหนือคู่แข่งขัน
               2.3 นวัตกรรมธุรกิจ-ความรู้ คือการที่ธุรกิจมุ่งสนใจในนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมกระบวนการมาอย่างยาวนาน จึงเกิดความคิดใหม่ที่จะแสวงหานวัตกรรมใหม่ทางธุรกิจ เช่นนวัตกรรมการตลาด นวัตกรรมการจัดการเพราะเป็นสิ่งที่ครอบคลุมประเด็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
            3. การเพิ่มอัตราเร่งสู่นวัตกรรมใหม่ๆ โดย
                  3.1 เร่งการเรียนรู้ ความรู้ใหม่ เทคโนโลยีใหม่ จากทุกแห่งทั่วทุกที่จากทุกมุมโลก
                  3.2 ธุรกิจคงต้องทบทวนความคิดใหม่ว่า การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ นั้น เป็นการศึกษาและเรียนรู้แบบ"วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบการรับรู้" ไม่ใช่ "วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบการผลิตภาพ หรือการเรียนรู้แบบนวัตกรรมและผลิตภาพ"
                  3.3 ธุรกิจต้องเรียนรู้และเข้าใจทั้งนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมกระบวนการและนวัตกรรมธุรกิจ-
ความรู้การเป็นองค์กรแบบใหม่ที่เรียกว่า "องค์กรนวัตกรรมและผลิตภาพ" จะทำให้ธุรกิจเป็น "ธุรกิจแห่งนวัตกรรม" ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน   (ที่มา: คัดลอกมาจาก คิดไทยสไตล์โมเดิร์น ของ คุณดนัย เทียนพุฒ นสพ.บิซวีส)
            อนึ่งทุกองค์กรต้องมี คน ที่ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนธุรกิจทั้งสิ้นซึ่งองค์กรจะมีคุณภาพได้นั้นต้องมีการจัดสรรจัดการทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกพนักงานเข้ามาทำงานซึ่งต้องวางแผนกำลังคนให้เหมาะสม การคัดสรรพนักงานที่มีความสามารถและเหมาะสมกับงาน ต่อเนื่องไปยังขณะปฏิบัติหน้าที่นั้นต้องมีการเพิ่มศักยภาพบุคลากรโดยการฝึกอบรมและพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นๆ และหลังจาการทำงานร่วมกันแล้วยังต้องคำนึงถึงบุคลากรที่กำลังจะเกษียณด้วยซึ่งอาจจะมีการให้บำเหน็จ เงินทดแทน เงินสำรองเลี้ยงชีพหรือผลตอบแทนประเภทต่างๆ เพื่อจูงใจให้พนักงานมีเป้าหมายในการทำงานรวมถึงระดับความก้าวหน้าของสายงาน เป็นต้น


แนวคิดพื้นฐานของนวัตกรรมทางการศึกษา
ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างมาก ต่อวิธีการศึกษา ได้แก่แนวความคิดพื้นฐานทางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป อันมีผลทำให้เกิดนวัตกรรมการศึกษาที่สำคัญๆ พอจะสรุปได้ 4 ประการ คือ
         
1. ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Different) การจัดการศึกษาของไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลเอาไว้อย่างชัดเจนซึ่งจะเห็นได้จากแผนการศึกษาของชาติ ให้มุ่งจัดการศึกษาตามความถนัดความสนใจ และความสามารถ ของแต่ละคนเป็นเกณฑ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ การจัดระบบห้องเรียนโดยใช้อายุเป็นเกณฑ์บ้าง ใช้ความสามารถเป็นเกณฑ์บ้าง นวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อสนองแนวความคิดพื้นฐานนี้ เช่น
- การเรียนแบบไม่แบ่งชั้น (Non-Graded School)
-
แบบเรียนสำเร็จรูป (Programmed Text Book)
-
เครื่องสอน (Teaching Machine)
-
การสอนเป็นคณะ (TeamTeaching)
-
การจัดโรงเรียนในโรงเรียน (School within School)
-
เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction)
2. ความพร้อม (Readiness) เดิมทีเดียวเชื่อกันว่า เด็กจะเริ่มเรียนได้ก็ต้องมีความพร้อมซึ่งเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันการวิจัยทางด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ ชี้ให้เห็นว่าความพร้อมในการเรียนเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ ถ้าหากสามารถจัดบทเรียน ให้พอเหมาะกับระดับความสามารถของเด็กแต่ละคน วิชาที่เคยเชื่อกันว่ายาก และไม่เหมาะสมสำหรับเด็กเล็กก็สามารถนำมาให้ศึกษาได้ นวัตกรรมที่ตอบสนองแนวความคิดพื้นฐานนี้ได้แก่ ศูนย์การเรียน การจัดโรงเรียนในโรงเรียน นวัตกรรมที่สนองแนวความคิดพื้นฐานด้านนี้ เช่น
           -
ศูนย์การเรียน (Learning Center)
           -
การจัดโรงเรียนในโรงเรียน (School within School)
           -
การปรับปรุงการสอนสามชั้น (Instructional Development in 3 Phases)
3. การใช้เวลาเพื่อการศึกษา แต่เดิมมาการจัดเวลาเพื่อการสอน หรือตารางสอนมักจะจัดโดยอาศัยความสะดวกเป็นเกณฑ์ เช่น ถือหน่วยเวลาเป็นชั่วโมง เท่ากันทุกวิชา ทุกวันนอกจากนั้นก็ยังจัดเวลาเรียนเอาไว้แน่นอนเป็นภาคเรียน เป็นปี ในปัจจุบันได้มีความคิดในการจัดเป็นหน่วยเวลาสอนให้สัมพันธ์กับลักษณะของแต่ละวิชาซึ่งจะใช้เวลาไม่เท่ากัน บางวิชาอาจใช้ช่วงสั้นๆ แต่สอนบ่อยครั้ง การเรียนก็ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น นวัตกรรมที่สนองแนวความคิดพื้นฐานด้านนี้ เช่น
           - การจัดตารางสอนแบบยืดหยุ่น (Flexible Scheduling)
           -
มหาวิทยาลัยเปิด (Open University)
           -
แบบเรียนสำเร็จรูป (Programmed Text Book)
           -
การเรียนทางไปรษณีย์
4. ประสิทธิภาพในการเรียน การขยายตัวทางวิชาการ และการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้มีสิ่งต่างๆ ที่คนจะต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้นมาก แต่การจัดระบบการศึกษาในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจึงจำเป็นต้องแสวงหาวิธีการใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งในด้านปัจจัยเกี่ยวกับตัวผู้เรียน และปัจจัยภายนอก นวัตกรรมในด้านนี้ที่เกิดขึ้น เช่น
          - มหาวิทยาลัยเปิด
          -
การเรียนทางวิทยุ การเรียนทางโทรทัศน์
          -
การเรียนทางไปรษณีย์ แบบเรียนสำเร็จรูป
          -
ชุดการเรียน

รูปแบบของนวัตกรรม มี 3 แบบคือ
1.นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation): ซึ่ง โดยส่วนใหญ่ก็หมายถึง ผลิตภัณฑ์ ที่ ใช้กับ คนหรือผู้บริโภค เช่นเครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น เป็นต้น ซึ่งนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้น ก็ จะเกี่ยวข้อง กับ ส่วนประกอบ(components) และระบบ(System) ซึ่งจะเขียนต่อไป ในเรื่องประเภทของ Innovation    
2.นวัตกรรมด้านบริการ (Services Innovation) : (Intangible product) หรือ การบริการ (services) เช่น  ประเภทของนวัตกรรม ด้านบริการนั้น ไม่สามารถจับต้องได้เหมือน Product Innovation จะเป็นรูปแบบของการให้บริการ เช่น การเปลี่ยนแปลงของ บริการด้านการเงินของธนาคาร  บริการของบิรษัทมือถือด้านโปรโมชั่น ต่างๆ เช่น AISสามารถให้ ลุกค้ากำหนด ประเภท โปรโมชั่นได้เอง เป็นต้น
3.นวัตกรรมกระบวนการ (Process Innovation): ประเภทที่สามของ innovation นี้ David Smith บอกว่า ถ้าเกิดขึ้นจะมีผล กระทบต่อสังคม กว่า สองประเภท ด้านบน ซึ่งการ จำแนกรูปแบบของนวัตกรรมนี้ เพื่อให้ สามารถกำหมดแยกแยะและทราบถึง รูปแบบ ของสินค้าและบริการ ที่จะต้องทำการ ต่อยอด หรือพัฒนา



ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษา
          เทคโนโลยี   ตามพจนานุกรม  Merriam- Webster  ได้ให้รากศัพท์ของคำ Technologyไว้ว่า Technology  มาจากคำภาษากรีก  tekhnologia   หมายถึง  การกระทำอย่างเป็นระบบของศิลปะ  โดยมาจากคำว่า  tekhne  ( art , skill )  +  o  +  logia (logy )
เทคโนโลยี หมายถึง สิ่งที่มนุษย์พัฒนาขึ้น เพื่อช่วยในการทำงานหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์เครื่องมือ, เครื่องจักร, วัสดุ หรือ แม้กระทั่งที่ไม่ได้เป็นสิ่งของที่จับต้องได้ เช่น กระบวนการต่าง ๆ
เทคโนโลยี เป็นการประยุกต์ นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ และก่อให้เกิดประโยชน์ ในทางปฏิบัติ แก่มวลมนุษย์กล่าวคือเทคโนโลยีเป็นการนำเอาความรู้ ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนที่เป็นข้อแตกต่างอย่างหนึ่งของเทคโนโลยี กับวิทยาศาสตร์ คือเทคโนโลยีจะขึ้นอยู่กับปัจจัย ทางเศรษฐกิจเป็นสินค้ามีการซื้อขาย ส่วนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เป็นสมบัติส่วนรวมของ ชาวโลกมีการเผยแพร่โดยไม่มีการซื้อขายแต่อย่างใดกล่าวโดยสรุปคือ เทคโนโลยีสมัยใหม่เกิดขึ้นโดยมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นฐานรองรับ

ความหมายของเทคโนโลยีทางการศึกษา
เทคโนโลยีการศึกษา  หมายถึง กระบวนการหรือวิธีการในการนำความรู้เรื่องแนวคิดมาประยุกต์องค์ประกอบหรือองค์ความรู้ต่างๆ มาใช้อย่างเป็นระบบเพื่อให้การดำเนินงานในวงการต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพลักษณะของเทคโนโลยี สามารถจำแนกออกได้ 3 ลักษณะ
         
1. เทคโนโลยีในลักษณะกระบวนการ (process) เป็นการใช้วิทยาศาสตร์และความรู้ต่างๆที่รวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่ผลในการปฏิบัติ
         
2. เทคโนโลยีในลักษณะของผลผลิต (product) หมายถึง วัสดุหรืออุปกรณ์ที่เป็นผลมาจากการใช้กระบวนการทางเทคโนโลยี
          3.
เทคโนโลยีในลักษณะผสมของกระบวนการและผลผลิต (process and product) เช่น เทคโนโลยีช่วยให้ระบบการรับส่งข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากความก้าวหน้าของอุปกรณ์เพื่อการรับส่งข้อมูล

             จากข้อพิจารณาดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษามีสองลักษณะที่เน้นหนักแตกต่างกัน คือ
           
1. เทคโนโลยีการศึกษา หมายถึง การประยุกต์หลักการวิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรมศาสตร์ให้เป็นวัสดุ เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการเสนอ แสดง และถ่ายทอดเนื้อหาทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความหมายนี้พัฒนามาจากความคิดของกลุ่มนักโสต-ทัศนศึกษา
            2.
เทคโนโลยีการศึกษามีความหมายโดยตรงตามความหมายของเทคโนโลยี คือ ศาสตร์แห่งวิธีการ หรือการประยุกต์วิทยาศาสตร์มาใช้ในการศึกษา โดยคำว่าวิทยาศาสตร์ในที่นี้มุ่งเน้นที่วิชาพฤติกรรมศาสตร์ เพราะถือว่าพฤติกรรมศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งเช่นเดียวกับวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เป็นต้นที่มา

เทคโนโลยีการสอน
          การสอน (Instruction)  คือการกระทำทั้งหลายที่เป็นระบบของครูเพื่อส่งเสริมให้เกิดความสะดวกต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
          การสอน (Instruction)  เป็นการถ่ายทอดความรู้จากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง  การสอนเป็นการสร้าง  การใช้  และปรับปรุง ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของการสอนในห้องเรียน
          การสอนเป็นการกระทำที่เป็นระบบของครู เพื่อสร้างภาวะอันจะก่อให้เกิดความสะดวกแก่การเรียนรู้ของผู้เรียน
          โดยสรุปแล้วการสอน  หมายถึง  เป็นการกระทำที่เป็นระบบของครู  เพื่อสร้างภาวะอันจะก่อให้เกิดความสะดวกแก่การเรียนรู้ของผู้เรียน
          เทคโนโลยีการสอน (Instructional  Technology)  หมายถึง ระบบและวิธีการในการประยุกต์เกี่ยวกับยุทธศาสตร์และเทคนิควิธีการที่มีพื้นฐานมาจากทฤษฎีการเรียนรู้  เช่น  พฤติกรรม (Behaviorism)  พุทธิปัญญานิยม(Cognitivism)  และคอนสตรัคติวิสต์  (Constructivism)นำมาใช้ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเรียนการสอน
          เทคโนโลยีการสอน (Instructional  Technology)  หมายถึง  การออกแบบ  การพัฒนาการใช้ และการประเมินผลการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ  โดยยึดจุดประสงค์เฉพาะ  เพื่อให้เกิดผลเป็นการสอนที่มีประสิทธิภาพ
กล่าวโดยสรุปแล้วเทคโนโลยีการสอน  เป็นการจัดการเกี่ยวกับการสอนที่มีระบบ  เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ

ความสัมพันธ์ระหว่างนวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา
        คำว่า นวัตกรรมเป็นคำที่ใช้ควบคู่กับ เทคโนโลยีเสมอๆ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Innotech ความจริงแล้วนวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากนวัตกรรมเป็นเรื่องของการคิดค้นหรือการกระทำใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นซึ่งอาจจะอยู่ในขั้นของการเสนอความคิดหรือในขั้นของการทดลองอยู่ก็ได้ ยังไม่เป็นที่คุ้นเคยของสังคม ส่วนเทคโนโลยีนั้นมุ่งไปที่การนำสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งวิธีการเข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำงาน หรือแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ถ้าหากพิจารณาว่านวัตกรรมหรือสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่นี้น่าจะนำมาใช้ การนำเอานวัตกรรมเข้ามาใช้นี้ ก็จัดได้ว่าเป็นเทคโนโลยีด้วย และในการใช้เทคโนโลยีนี้ถ้าเราทำให้เกิดวิธีการหรือสิ่งใหม่ ๆ ขึ้น สิ่งนั้นก็เรียกว่าเป็นนวัตกรรม เราจึงมักเห็นคำ นวัตกรรมและเทคโนโลยี อยู่ควบคุมกันเสมอ

การจัดประเภทของเทคโนโลยีการศึกษา
            นักการศึกษาได้เสนอให้มีการจัดแบ่งประเภทของเทคโนโลยีการศึกษาใหม่ โดยหันมาเน้นที่การนำมาใช้ในการเรียนการสอน แทนการเน้นที่ความเป็นอุปกรณ์อย่างที่เคยเป็นมา เป็นผลให้สามารถกำหนดประเภทของเทคโนโลยีการศึกษาได้เป็น 4 ประเภทหลัก คือ
            1. ประเภทช่วยสอน (Tutorial) ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีทำการสอน สาธิต หรือ ฝึกหัด เช่น คอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบต่าง ๆ โทรทัศน์ศึกษา ซอฟต์แวร์แบบฝึก เป็นต้น
          2. ประเภทช่วยค้นคว้า (Exploratory) คือ เทคโนโลยีที่ให้อิสระผู้เรียนในการสำรวจค้นหาความรู้ด้วยวิธีการสอนแบบค้นคว้า ไม่ว่าจะมีการชี้แนะหรือไม่มี (guided discovery) เช่น ซีดีรอมประเภทเอ็นไซโคลปิเดีย ไฮเปอร์มีเดีย เครือข่ายข้อมูล ห้องแลปคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
            3. ประเภทเครื่องมือสื่อช่วยสอนการเรียน (Tools / Application) ได้แก่ เทคโนโลยีที่ช่วยผู้เรียนในการทำงานหรือทำกิจกรรมการเรียนในวิชาต่าง ๆ ประเภทการเขียนการวิเคราะห์ข้อมูลการค้นคว้าและจัดทำฐานข้อมูล เช่น โปรแกรมประยุกต์ในงานพิมพ์ งานคำนวณและงานนำเสนอโปรแกรมด้านกราฟิกต่าง ๆ เครือข่ายการสืบค้นข้อมูล การบันทึกและตัดต่อวีดีโอ เป็นต้น
            4. ประเภทช่วยการสื่อสาร (Communication) ได้แก่ เทคโนโลยีที่ช่วยให้ครูและผู้เรียนสามารถติดต่อกันโดยผ่านหรือข้ามเครือข่าย ด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลาย เช่น การสอนทางเชิงปฏิสัมพันธ์ผ่านดาวเทียม คอมพิวเตอร์และโมเด็ม เคเบิลทีวี และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
            นอกจากนี้ กรณีศึกษาต่างๆ ยังสนับสนุนความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยีสามารถเป็นตัวแปรหลักในการปฎิรูปแบบการเรียนการสอนให้มีลักษณะที่พึงปรารถนา ได้แก่
-          การจัดกิจกรรมการเรียนที่เป็นจริงและท้าทาย (Authentic, Challenging Tasks)
-          การเปลี่ยนบทบาทของครูและผู้เรียน (New roles of students and Teachers)
-          การเพิ่มพูนความสามารถในวิชาชีพของครู (Professionalization of Teachers)
-          การสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้เกิดการยอมรับว่ามีการเรียนทั้งในและนอกโรงเรียน
(Culture that supports learning both in the classroom and beyond the school walls)
            เมื่อนำทุกย่างมาพิจารณารวมกัน จะได้รูปแบบหลักของการนำเทคโนโลยีมาปฎิรูปการจัดการเรียนการสอนให้มีลักษณะดังกล่าว เรียกว่า “การใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมกิจกรรมจริง” (Authentic Uses of Technology) โดยเน้นการใช้เทคโนโลยี 2 ประเภทช่วยการสื่อสาร คือ คอมพิวเตอร์ โมเด็มและเครือข่าย วีดิทัศน์และวีดิทัศน์ทางการศึกษา ซีดีรอมและวีดีโอดิสก์ และเทคโนโลยีดาวเทียม โดยมีหลักการนำไปใช้ดังต่อไปนี้

-          ใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการทำกิจกรรมจริงของผู้เรียน ซึ่งมักเป็นกิจกรรมที่มีลักษณะบูรณาการและท้าทาย
-          ใช้เทคโนโลยีเป็นกิจกรรมอื่น ๆ มากกว่าเป็นวิชาที่เปิดสอน

เทคโนโลยีกับบทบาทในการจัดการเรียนการสอน
            จอน โบ ไฟล์ และคนอื่นๆ (Jones. Beau Fly and others 1995:8) ได้เสนอหลักของการจัดการเรียนการสอนไว้ 5 ประการดังต่อไปนี้
            1. การจัดการเรียนแบบให้มีส่วนร่วม (Engaged Learning)
            2. การจัดการเรียนแบบให้มีการร่วมมือกัน (Collaborative Learning)
            3. การจัดการเรียนแบบสหวิทยาการและบูรณาการ (Multidisciplinary/Interdisciplinary)
            4. การจัดการเรียนแบบตอบสนองลักษณะเฉพาะของบุคคล (Personalized Learning)
            5. การเรียนและประเมินผลตามจริง (Authentic Learning and Autheirntic Assessment)
            บทบาททางการเรียนเหล่านี้มุ่งเน้นให้เกิดผู้เรียนที่มีลักษณะมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน (Engaged Learners) ซึ่งแสดงออกด้วยการ 1) รับผิดชอบการเรียนด้วยตนเอง (responsible for their own learning) 2) เรียนอย่างกระตือรือร้น (energized by learning) 3) เรียนอย่างมียุทธวิธี (strategic) และ 4) เรียนด้วยการร่วมมือกัน (collaborative)
            การเรียนการสอน จึงต้องเปลี่ยนมาเน้นองค์ประกอบที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น การมีปฏิสัมพันธ์ในการเรียนรู้เพิ่มขึ้นของผู้เรียน การประสานและร่วมมือกันมากขึ้นในระหว่างโรงเรียนและโรงเรียนชุมชน การร่วมมือกันระหว่างครูกับผู้เรียนในการทำกิจกรรมการเรียนการสอนซึ่งครูจะเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเน้นให้ใช้สื่อการเรียนที่มาจากเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัดในรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ดังตาราง

ตารางที่ 1.1 เปรียบเทียบระหว่างการสอนแบบเดิมกับการสอนแบบปฎิรูป
การสอนแบบเดิม (Conventional Instruction)
การสอนแบบปฎิรูป (Reform Instruction)
1. ครูเป็นผู้กำกับควบคุม(Teacher-directed)
2. สอนแบบเน้นการให้ความรู้(Didactic teaching)
3. เรียนแบบต่างคนต่างทำกิจกรรม(Individual work)
4. ครูมีบทบาทเป็นผู้จ่ายความรู้(Teacher as knowledge dispenser)
5. จัดกลุ่มผู้เรียนตามความสามารถ(Ability grouping)
6. ประเมินผลจากทักษะความรู้ที่สอนไป(Assessment of fact knowledge and discrete skills)

1. ผู้เรียนเป็นผู้ศึกษาค้นคว้า(Student exploration)
2. สอนแบบเน้นการมีปฏิสัมพันธ์(Interactive modes of instruction)
3. เรียนแบบร่วมมือกันทำกิจกรรม(Collaborative work)
4. ครูมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียน(teacher as a facilitator)
5. จัดกลุ่มผู้เรียนแบบคละ(Heterogenous grouping)
6. ประเมินผลจากความสามารถในการนำไปใช้ของผู้เรียน(Performance-based Assessment)

            1. การเรียนแบบมีส่วนร่วม (Engaged Learning)
                ผู้เรียนต้องเรียนรู้ทักษะกระบวนการ (Process skills) ได้แก่ การสืบสวน ค้นหาข้อมูล การจัดจำพวก การประเมิน และการสื่อสารถ่ายทอดข้อมูล (Investigate-classify-evaluate-communicate information) เพื่อให้สามารถสร้างองค์ความรู้ (facts) ของตนเองขึ้นมาในขณะที่องค์ความรู้เหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
                เทคโนโลยีจะเข้าไปมีบทบาทเพื่ออำนวยให้เกิดทักษะกระบวนการเหล่านี้ เช่น โปรแกรมพิมพ์งาน วาดภาพ มัลติมีเดีย และระบบช่วยสร้าง โดยเน้นให้ผลผลิตของกิจกรรมสะท้อนให้เห็นการเกิดการเรียนรู้ของตน ผู้เรียนยังสามารถใช้จำลองสถานการณ์บนคอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาการคิดระดับสูง ใช้การสืบค้นข้อมูลจำนวนมากจากภายนอกผ่านโมเด็ม ใช้การวิเคราะห์สมมติฐานกับข้อมูลจำนวนมากที่เก็บไว้แล้วนำมาวิเคราะห์ใช้การฝึกภาคสนามเพื่อทดลองจริงกับกล้องถ่ายวิดีทัศน์และคอมพิวเตอร์แลปทอบ เป็นต้น

            2. การเรียนแบบร่วมมือกัน (Collaborative Learning)
              ผู้เรียนต้องพัฒนาให้เกิดทักษะในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในโลกที่แวดล้อมด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมแบบโลกาภิวัตน์มากขึ้นทุกขณะ การแข่งขันและการร่วมมือกันจึงเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน การทำงานกลุ่มแนวทางประชาธิปไตย การตัดสินใจในการทำงานกลุ่มเพื่อกำหนดการมีส่วนร่วมของทุกคนทำให้เกิดความรับผิดชอบและความรู้สึกมีส่วนร่วมในผลสำเร็จ
                เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการแบ่งแหล่งความรู้ (Resources) การใส่ข้อมูลบุคคลในกลุ่มเป็นรายบุคคลและจัดการงานกลุ่ม เป็นต้น
            3. การเรียนแบบบูรณาการ (Interdisciplinary Learning)
                ผู้เรียนเรียนรู้ที่จะสร้างความคิดรวบยอดข้ามวิชาต่างๆ โดยครูต้องทำงานเป็นทีม เพื่อสอนในแนวดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่การเชื่อมโยงเพียง 2 วิชา แต่ควรต้องพยายามเชื่อมโยงให้หลากหลายและเกินจากเป้าหมายในวิชาหนึ่งๆ ไว้ให้มากที่สุด
                เทคโนโลยีมัลติมีเดีย สามารถช่วยในกานำเสนอผลงานของผู้เรียนแบบไม่เป็นเส้นตรง และเป็นมัลติมีเดียแบบบูรณาการช่วยสะสมวิเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอในรูปกราฟ ชาร์ตและการรวบรวมเพื่อนำไปใช้ต่อ ตลอดจนการใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์แบบบูรณาการ เป็นต้น
            4. การเรียนแบบตอบสนองลักษณะเฉพาะของบุคคล (Personalized Learning)
                ผู้เรียนแต่ละคนมีวิถีในการเรียนรู้แตกต่างกัน (Learning Styles) มีความพร้อมทางกายและสติปัญญาต่างกัน ครูจึงควรใช้วิธีการนำเสนอความรู้แบบหลากหลายเข้าไว้ก่อน (visual-auditory-kinetic-tactile-interactive-reading)
                เทคโนโลยีช่วยได้ทั้งการนำเสนอ การให้ความรู้และการถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปแล้วมัลติมีเดียเชิงปฏิสัมพันธ์ การโยงข้าม และไฮเปอร์เท็กซ์ เป็นตัวอย่างที่ดีของการตอบสนองเป็นรายบุคคล
           

5. การเรียนและประเมินผลตามจริง (Authentic Learning and Authentic Assessment)
              บริบทการเรียนรู้ที่เปลี่ยนมาเน้นการนำความรู้ไปใช้หรือประยุกต์ใช้จริงเท่านั้นที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความอยากเรียนรู้ กิจกรรมจึงต้องเน้นให้แสดงออก สร้าง และมีผลผลิต หรือทำอะไรที่จะได้นำไปใช้ในชีวิตจริง การประเมินผลก็ต้องตามมาในแนวเดียวกัน เช่น การทำแฟ้มสะสมงาน (Portfolio) โดยใช้เทคโนโลยีช่วยบันทึกความสำเร็จแต่ละขั้นของผู้เรียน เป็นต้น

การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน
        การนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ได้แก่ การจัดกลุ่มผู้เรียนให้ทำงานตลอดเทอม การจัดโครงการให้มีรูปแบบของการบูรณาการวิชาต่าง ๆ และมีเนื้อหาการเรียนรู้ที่ท้าทาย ชวนให้สนใจติดตามด้วยการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาสนับสนุนในการทำงาน เช่น รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ นำเสนอ และสื่อสารข้อมูลความรู้ให้แก่กันการจัดทำสิ่งเหล่านี้มียุทธวิธีสำคัญอยู่ 5 ประการหลักคือ
            1. การจัดให้ได้ใช้อย่างเพียงพอ โรงเรียนต้องเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาเรื่องงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ตลอดตนการซ้อมบำรุงดูแลรักษา เพราะจำนวนโอกาสที่ผู้เรียนได้ใช้เทคโนโลยีมีผลเป็นอย่างมากต่อประสิทธิภาพในการเป็นสื่อการสอนของเทคโนโลยี
            2. การจัดให้ได้ใช้อย่างทั่วถึงเสมอภาคโรงเรียนต้องคำนึงถึงความเสมอภาคทั้งในแง่ผู้เรียนที่มีฐานะเศรษฐกิจทางครอบครัวไม่เอื้ออำนวย หรือด้วยโอกาสและในแง่ของความไม่เสมอภาคทางเพศ เช่น นักเรียนชายอาจมีการเรียกร้องต้องการใช้คอมพิวเตอร์มากกว่านักเรียนหญิง เป็นต้น การออกแบบการจัดการเพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการใช้อาจแบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะคือ
                2.1 การใช้ในห้องเรียนทั่วไป
                2.2 การใช้ในห้องแลปไมโครคอมพิวเตอร์
                2.3 การเพิ่มการใช้ให้มีละชั้นปี
                2.4 การเพิ่มการใช้ให้ทีละชั้นปี
            3. การให้ครูส่วนใหญ่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนการจัดกิจกรรม ยังเป็นส่วนสำคัญของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอน โครงการหรือกิจกรรมที่จัดควรเน้นให้มีการสนับสนุนครูให้เข้าร่วมในการใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อ และเปลี่ยนบทบาทของตนเองและผู้เรียน โดยต้องเข้าใจถึงความแตกต่างในการเรียนรู้และปรับตัวของครูแต่ละคน วิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ได้แก่
                3.1 จัดเป็นกลุ่มครูที่มีความสนใจ เพื่อพัฒนาให้เกิดความชำนาญและเป็นพี่เลี้ยงครูคนอื่น ๆ ต่อไปได้
                3.2 จัดหาคอมพิวเตอร์ให้ครูใช้เป็นรายบุคคลและเป็นส่วนตัวที่บ้าน ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมด้วยเป็นอย่างมาก
                3.3 ให้รางวัลครูที่มีผลงานการใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อได้อย่างดี
                3.4 ตั้งเป้าการพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพควบคู่กันไป กับเทคนิควิธีทางการสอน
            4. การให้การดูแลสนับสนุนด้านการซ้อมบำรุง และการดูแลรักษาเทคโนโลยีในโรงเรียนเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อการเรียนการสอน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ หรือซ้ำซากจะทำให้ครูเกิดความท้อถอยและหมดกำลังใจไปได้ในที่สุด ทั้งนี้รูปแบบของการติดตามดูแลซ่อมบำรุง ทำได้ 5 แบบ ด้วยกันคือ
                4.1 จัดวางแผนการใช้และได้มาซึ่งอุปกรณ์ให้
                4.2 จัดการฝึกอบรมการใช้ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ ให้
                4.3 จัดเตรียมคำแนะนำและการสาธิตวิธีการสอดประสานเทคโนโลยีเข้ากับการสอน
                4.4 จัดเตรียมความช่วยเหลือตามคำร้องขอไว้สำหรับปัญหาในการใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์
                4.5 สาธิตวิธีการดูแลระดับพื้นฐานให้ดู
            การวางแผนด้านการซ่อมบำรุงจึงต้องเป็นระบบมีความต่อเนื่อง โดยคำนึงธรรมชาติในด้านการเสื่อมและล้าสมัยของอุปกรณ์ต่างๆ รวมตลอดถึงการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีแก่ครูต่อไปในระดับสูงขึ้นอีกด้วย

พัฒนาการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม

มีอีกคำหนึ่งที่ไม่อาจจะแยกจากคำว่าเทคโนโลยี นวัตกรรม นั่นก็คือ สารสนเทศ การที่จะพัฒนากระบวนการศึกษาให้ก้าวไกล ด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยี หรือการหาแนวทาง วิธีการใหม่ๆ ที่เรียกว่า นวัตกรรมนั้น ในปัจจุบันต้องพึ่งพากลไกทางสารสนเทศ เกือบทั้งสิ้น ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกได้เคลื่อนตัวสู่ยุคแห่งสังคมสารสนเทศ” (Information Society) ซึ่งถือเป็นยุคที่สาม (ถัดจาก ยุคเกษตรและ ยุคอุตสาหกรรม”) ที่มี สารสนเทศเป็นหัวใจหลักของการพัฒนา สารสนเทศนี้เองที่เป็นส่วนสำคัญ ที่ส่งผลกระทบในด้านต่างๆมากมาย เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 ภาคการบริการจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเทียบเท่ากับภาคการผลิต ประชากรในทุกมุมของโลกต่างบริโภค ข้อมูลข่าวสาร มากขึ้น นำมาซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและเศรษฐกิจ (The information industry and the economy) การจ้างงานภาคสารสนเทศ ถือได้ว่าเป็นยุคสมัยแห่งการปฎิวัติระบบการพัฒนาของมนุษย์ ซึ่งเราไม่อาจจะปฎิเสธได้ว่า ปัจจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ในขบวนการพัฒนาทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ในด้านการศึกษา การสาธารณสุข การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการบริหารทั้งภาครัฐรวมถึงแวดวงธุรกิจ
การจะพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษา ความเป็นมา หรือพัฒนาการของสารสนเทศ พร้อมๆกันไปด้วย เรามาศึกษาวิวัฒนาการของสารสนเทศที่เกี่ยวของกับการศึกษากัน

นับแต่อดีต ชาวกรีกโบราณ ได้ใช้วัสดุและวิธีการในการสอนประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง ด้วย การแสดงละครเพื่อสร้างเจตคติทางจรรยาและการเมือง ใช้ดนตรีเพื่อสร้างอารมณ์ และยังได้ย้ำถึงความสำคัญของการศึกษานอกสถานที่ด้วย นอกจากนี้การสอนศิลปวิจักษ์ในสมัยนั้นได้ใช้รูปปั้น และงานแกะสลักช่วยสอน ซึ่งนับว่าเป็นการใช้ทัศนวัสดุในการสอนแทนการปาฐกถาอย่างเดียว เพลโต นักปราชญ์ชาวกรีก ได้ย้ำถึงความสำคัญของคำพูดที่ใช้กันนั้นว่า เมื่อพูดไปแล้วอะไรเป็นความหมายที่อยู่เบื้องหลังสิ่งนั้น จึงได้กระตุ้นให้ใช้วัตถุประกอบเพื่อช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้น
ฟรานซิส เบคอน (ค.ศ.1561-1626)
เป็นผู้สนับสนุนวิธีใหม่ ๆ แบบ Realism คือหันมายึดวัตถุและความคิด โดยเสนอแนะว่า การเรียนการสอนนั้น ควรให้ผู้เรียนได้รู้จักสังเกต พิจารณา เหตุผลในชีวิตจริง โดยครูเป็นผู้นำให้นักเรียนคิดหาวิธีแก้ปัญหาซึ่งจะต้องอาศัยการสังเกตพิจารณานั่นเอง ไม่ใช่ครูเป็นผู้บอกเสียทุกอย่าง
จฮันน์ อะมอส คอมินิอุส (Johannes Amos Comenius ค.ศ.1592-1670)
เป็นผู้ที่พยายามใช้วัตถุ สิ่งของช่วยในการสอนอย่างจริงจัง จนได้รับเกียรติว่าเป็นบิดาแห่งโสตทัศนศึกษา คอมินิอุสได้แต่งหนังสือสำคัญ ๆ ไว้มากมาย ที่สำคัญยิ่งคือ หนังสือ Obis Sensualium Pictus หรือ "โลกในรูปภาพ" ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1685 เป็นหนังสือที่ใช้รูปภาพประกอบบทเรียน ถึง 150 ภาพ ซึ่งนับว่าเป็นการใช้ทัศนวัสดุประกอบการเรียนเป็นครั้งแรก
ธอร์นไดค์ (thorndike)
เป็นนักจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกันที่ใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทางการศึกษาประกอบหลักการทางจิตวิทยา โดยได้ทดลองทางจิตวิทยาเกี่ยวกับ การตอบสนองของสัตว์และมนุษย์ เขาได้ออกแบบสื่อการสอน เพื่อให้ตอบสนองเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอนแบบโปรแกรมจึงได้ชื่อว่า เป็นคนแรกที่ริเริ่มเทคโนโลยีการศึกษาแนวใหม่
บี เอฟ สกินเนอร์ (B.F.Skinner)
เป็นผู้ใช้แนวความคิดใหม่ทางจิตวิทยาเกี่ยวกับสิ่งเร้า และผลตอบสนองโดยคำนึงถึงธรรมชาติของมนุษย์ เขาได้ทำการทดลองกับสัตว์โดยฝึกเป็นขั้น ๆ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในการสอนแบบโปรแกรม และเป็นผู้ที่คิดเครื่องช่วยสอนได้เป็นผลสำเร็จเป็นคนแรก แนวคิดทางเทคโนโลยีการศึกษาปัจจุบัน ได้รากฐานมาจากแนวความคิดของสกินเนอร์เป็นส่วนมาก
สำหรับพัฒนาการทางเทคโนโลยีการศึกษาในประเทศไทยนั้น ได้มีการให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีการศึกษา ทั้งในด้านการจัดตั้งหน่วยงานด้านเทคโนโลยีการศึกษาในหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน อาทิ การจัดตั้งแผนกโสตทัศนศึกษาขึ้นในกองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ในปี พ.ศ.2483) ทำหน้าที่พัฒนา จัดหา จัดซื้อ จัดสร้างสื่อ และให้บริการโสตทัศนวัสดุ อาทิ ฟีล์มภาพยนตร์ สไลด์ ฟีล์มสตริป เป็นต้น (ปัจจุบันได้กลายเป็นศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ) และมีหน่วยงานโสตทัศนศึกษาตามจังหวัดต่างๆ(ปัจจุบันไม่มีแล้ว) ทำหน้าเป็นหน่วยบริการเผยแพร่ให้ความรู้สู่ชุมชนผ่านวิธีการฉายภาพยนตร์กลางแปลงในที่ชุมชนทั้งในเมืองและชนบท รวมถึงให้บริการด้านโสตทัศนูปกรณ์ให้กับประชาชนและสถานศึกษา ต่อมาได้ขยายการให้บริการโสตทัศนวัสดุในภูมิภาคในศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคทั้ง 5 ภาค (ปัจจุบันเป็น สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาค...) ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้มีการเปิดการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีการศึกษาระดับปริญญาตรี-โทจนถึงระดับปริญญาเอก ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับ พ.ศ.2542 ที่เน้นความสำคัญของเทคโนโลยีการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีนั่นเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น